“คัมภีร์อาหารอาเซียน” มาดูกันว่าชาวพื้นถิ่นกินอะไร ก่อนเดินทางไปชิมให้ถึงที่

เคยได้ยินมั้ยว่า ทริปที่จะเที่ยวได้สนุกที่สุด ส่วนหนึ่งคือทริปที่ได้กินอาหารอร่อย ๆ เยอะที่สุด

ต่อให้ใครบางคนอาจจะอยากแย้งอยู่บ้าง แต่เชื่อเถอะว่าสายตะลุยกินหลาย ๆ คน จะต้องตั้งเป้าหมายเรื่องการตามหาของกินอร่อย ๆ เป็นหลักในเกือบทุกทริปแน่นอน ถึงขั้นที่หลาย ๆ คนอาจจะต้องเสิร์ชหาร้านอร่อยรีวิวแน่นกันอย่างเอาเป็นเอาตายก่อนออกเดินทางเลยทีเดียว ขอแค่ร้านไหนคนว่ากันว่าเด็ดดังก็ถึงไหนถึงกันทันที

และหากจะกล่าวถึงโซนประเทศที่สายกินจะต้องเที่ยวสนุกสุด ๆ ก็เป็นโซนไหนไปไม่ได้นอกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถบประเทศเพื่อนบ้านของเรานี่เอง ด้วยความที่อยู่ใกล้ไทย รสชาติและชนิดที่หลากหลาย แถมยังกินง่ายเพราะใกล้เคียงกับรสชาติอาหารบ้านเราอีกต่างหาก เรียกได้ว่าสำหรับสายกินแล้วตอบโจทย์สุด ๆ

ส่วนเมนูแต่ละประเทศจะมีอะไรเด่นอะไรดังบ้าง วันนี้บทความของ Samurai Sim พร้อมมาแนะนำจุดเด่น และเมนูแนะนำฉบับพลาดไม่ได้จาก 5 ประเทศในแถบอาเซียน ทั้งในแบบเมนูที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยว และเมนูแบบฉบับชาวโลคอลแท้ ๆ ในแบบที่สามารถกางเป็นคัมภีร์จิ้มเลือกมื้ออาหารเช้า กลางวัน เย็นได้เลย เหมาะอย่างยิ่งกับคนที่กำลังจะออกเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้านแต่ยังไม่รู้ว่าจะกินอะไร

(ทั้งนี้ทั้งนั้น การเที่ยวต่างประเทศให้สนุก และการกินข้าวให้อร่อย ขึ้นอยู่กับความพร้อมเปิดใจของเราทุกคนด้วยนะ)

วัฒนธรรมร่วมด้านอาหารของชาวอาเซียน

ด้วยพื้นฐานของภูมิประเทศ และวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันในฐานะบ้านพี่เมืองน้อง ทำให้ประเทศในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีวัฒนธรรมร่วมกันในหลากหลายแง่มุม ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องอาหารการกิน

ด้วยความเป็นแถบประเทศที่ไม่เคยขาดแคลนเรื่องน้ำ เพราะส่วนมากเป็นประเทศติดชายฝั่งทะเล รวมถึงยังมีแม่น้ำสายหลัก อันเป็นจุดกำเนิดของวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่งอย่างแม่น้ำโขง เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการเพาะปลูกพืชผัก โดยเฉพาะพืชในแถบทรอปิคอล และการกสิกรรมอื่น ๆ ส่งผลให้คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักรับประทานข้าวเป็นคาร์โบไฮเดรตหลัก ไม่ว่าจะข้าวขาว ข้าวกล้อง หรือข้าวเหนียว เนื่องจากสามารถเพาะปลูกข้าวได้แทบตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ อีกหนึ่งสิ่งที่แทบทุกประเทศในโซนนี้มีร่วมกัน คือเรื่องวัตถุดิบและวิธีการปรุงอาหาร โดยวัตถุดิบหลักที่ไม่ว่าประเทศใดก็มีเหมือนกัน คือปลา ทั้งปลาน้ำจืดและน้ำเค็ม, อาหารทะเล และเกลือ ไม่ว่าจะเป็นเกลือทะเลหรือเกลือสินเธาว์ เป็นจุดกำเนิดของเครื่องปรุงอันเป็นเอกลักษณ์เหนือภูมิภาคไหน ๆ ในโลก คือเครื่องปรุงรสจำพวกน้ำปลา ปลาร้า และกะปิ ที่แม้อาจจะมีชื่อที่แตกต่างกันไปบ้างตามภาษาแต่ละประเทศ แต่กลิ่น สี และรสแทบไม่แตกต่างกันไปเลย ส่วนวิธีการประกอบอาหารแบบดั้งเดิม ก่อนการเข้ามาถึงของอาหารตะวันตกในภูมิภาคอินโดจีน มักเน้นการต้ม แกง ปิ้ง และย่าง โดยเฉพาะเมนูแกง ที่มักเติมกะทิ ผลผลิตจากมะพร้าวที่เป็นพืชท้องถิ่นลงไปเพื่อรสชาติหอมมัน ตัดกับความเผ็ดจัดจ้านของพริกแกง เกิดเป็นรสอร่อยในชนิดที่ต้องเติมข้าวแบบไม่ยั้ง

อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นวัฒนธรรมร่วมของเมนูอาหารในแถบ South East Asia (SEA) คือการผสมผสานกันของพหุวัฒนธรรม ทำให้อาหารของแต่ละชาติมีความหลากหลาย จากการผสมผสานและปรับสูตรให้ถูกลิ้นของคนในชาติตน จนกลายเป็นอาหารในกลิ่นอายของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลที่ได้มาจากการเผยแพร่ศาสนาการค้า หรือผลพวงจากการล่าอาณานิคม เช่น การปรุงอาหารด้วยกระวานและกานพลู เครื่องเทศอันได้รับอิทธิพลจากอินเดียและอาหรับ การรับประทานก๋วยเตี๋ยวผัดและบะหมี่ อาหารประเภทเส้นที่มีต้นกำเนิดมาจากจีน หรือกระทั่งการนำบาแก็ตต์ ขนมปังสไตล์ฝรั่งเศสมาปรับประยุกต์ให้เป็นอาหารทานเล่น และอาหารเช้าจานหลักในประเทศกัมพูชาหรือลาว

นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากในอาหารทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือการปรุงอาหาร และจัดสำรับอาหาร ในลักษณะของการทำอาหารให้เป็นยา และการบาลานซ์สัดส่วนโภชนาการเป็นอย่างดี เช่น ในประเทศที่นิยมใช้เนื้อวัวเป็นวัตถุดิบ จะพบว่าอาหารจานเนื้อจะมีเครื่องเทศเป็นส่วนผสมจำนวนมาก หนึ่งคือเพื่อดับกลิ่นเฉพาะตัวของเนื้อที่หลายคนอาจไม่ชอบนัก และสองคือให้เครื่องเทศได้เป็นตัวช่วยในการย่อยอาหาร ตามสรรพคุณที่ช่วยขับลม และเป็นยาช่วยย่อย และการเพิ่มขมิ้นลงไปในอาหารรสเผ็ดจัด เพื่อให้ฤทธิ์ของขมิ้นลดการระคายเคืองของทางเดินอาหารเพราะพริกเผ็ด ๆ นั่นเอง

Malaysia

ในประเทศที่มีข้อจำกัดเรื่องอาหารบางประการ เนื่องจากถือเป็นรัฐอิสลาม จึงทำให้ผู้คนในมาเลเซียส่วนมากรับประทานอาหารฮาลาล หรือก็คืออาหารที่ถูกต้องตามหลักบัญญัติของศาสนาอิสลามในชีวิตประจำวัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีแต่อาหารสไตล์อิสลามอย่างเดียวนะ เพราะอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากจีนและอินเดียในสไตล์มาเลเซียก็มีอยู่ไม่น้อยเลย

อาหารพื้นถิ่นมาเลเซีย มักมีวัตถุดิบหลักอย่าง ขมิ้น ขิง ข่า พริก หอม กระเทียม ใบมะกรูด ใบชะพลู ผักแพว สะตอ ใบเหลียง ยอดมะม่วงหิมพานต์ เนื้อวัว เนื้อแพะ เป็ด ไก่ และอาหารทะเลอยู่ทั่วไป และมีการปรุงด้วยหมูบ้างในกรณีที่ไม่ใช่ร้านฮาลาล นอกจากนี้ยังนิยมใช้กะทิในการปรุงอาหารอีกด้วย และจากวัตถุดิบที่กล่าวถึงเหล่านี้ เดาได้ไม่ยากเลยว่ารสชาติจะต้องใกล้เคียงกับอาหารพื้นบ้านทางภาคใต้ของไทยเรา แต่อาจจะจัดจ้านมากกว่าหน่อย หากใครเป็นสายเครื่องเทศและรสเผ็ดร้อน เชื่อว่าจะต้องถูกปากกับอาหารสไตล์มาเลเซียอย่างไม่ต้องสงสัย

และเนื่องจากชาติพันธุ์หลักที่ปักหลักอยู่ในมาเลเซีย มีทั้งชาวมลายู จีน และอินเดีย ทำให้ยังมีอาหารอินเดียยอดฮิตอย่างทันดูรี นาซิ เบรยานีดาล(แกงถั่วเลนทิล) โรตีมะตะบะ จาปาตี นาน อาจาด และอาหารที่มีส่วนประกอบของเครื่องเทศหลากชนิดโดยเฉพาะผงกะหรี่จำหน่ายอยู่ทั่วไป เช่นเดียวกับอาหารสไตล์จีนอย่าง ข้าวมันไก่ บะหมี่ หมูแดง หมูหัน เป็ดย่าง ซาลาเปา และป่อเปี๊ยะ รวมไปถึงยังมีวัตถุดิบเฉพาะที่แตกต่างกันไปในพื้นที่รอบนอก อย่างการรับประทานเนื้อกวางและหมูป่าอีกด้วย

แต่หากจะพูดถึงอาหารต้นตำรับมาเลเซียขนานแท้ ที่คนทั่วโลกรู้จักกัน ก็ต้องพูดถึงนาซิเลอมัก คือข้าวหุงกับน้ำกะทิและใบเตยเพื่อความหอมมัน รับประทานคู่กับน้ำพริก หรือ ซัมบัล แตงกวา ถั่วลิสงและปลาตัวเล็กทอด, สะเต๊ะ อาหารประเภทปิ้งย่าง ใช้เนื้อสัตว์ ได้แก่ เนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อแพะ คลุกกับเครื่องเทศเสียบไม้แล้วนำไปย่าง รับประทานกับซอสที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศและถั่ว มีเครื่องเคียงเป็นแตงกวา หอมใหญ่ และสับปะรด และสลัดแขก เป็นสลัดผักที่มีเส้นหมี่ แตงกวา ถั่ว กุ้งชุบแป้งทอด ไข่ต้มและนมข้น ราดด้วยซอสที่ทำจากถั่ว

Indonesia

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ทำให้อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติอันสมบูรณ์ และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์เมนูอาหารที่หลากหลาย แม้อาหารส่วนใหญ่จะเป็นอาหารฮาลาล เนื่องจากมีประชากรชาวมุสลิมถึงเกือบ 90%  แต่ยังมีอาหารจากหลากกลุ่มชาติพันธุ์ที่กระจายตัวอาศัยตามหมู่เกาะต่างๆ รวมถึงอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากจีน อินเดีย อาหรับ และตะวันตก ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการดื่มชาและกาแฟ ซึ่งรับมาจากเจ้าอาณานิคมตะวันตกอีกด้วย

ชาวอินโดนีเซียทางข้าวเป็นหลัก โดยเม็ดข้าวแบบอินโดนีเซียจะค่อนข้างเรียวยาวกว่าเม็ดข้าวไทย ซึ่งนอกจากข้าวแล้ว ยังมีวัตถุดิบหลักอีก 4 ชนิด ที่ชาวอินโดนีเซียนิยมนำมาประกอบอาหาร ได้แก่ มะพร้าว กล้วย ถั่วลิสง และถั่วเหลือง มีส่วนเครื่องปรุงรสสำคัญที่ขาดไปจากครัวไม่ได้ คือเต-ราซิ หรือกะปิอินโดนีเซีย ที่มีรสเค็มกว่ากะปิของไทย โดยคนอินโดนีเซียไม่นิยมใช้น้ำปลาแต่จะใช้กะปิปรุงรสเป็นหลักแทน

อาหารของชนพื้นเมืองตามหมู่เกาะต่าง ๆ ในอินโดนีเซีย มักปรุงขึ้นจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่น เช่น ในมินังกาเบา มักนิยมบริโภคเนื้อควาย เนื้อแพะ และเนื้อแกะ นำมาประกอบเป็นแกงกะทิ เรียกว่า เรนดัง ส่วนที่ปาเล็มบังนิยมรับประทาน เปมเปค คือลูกชิ้นที่ทำจากเนื้อปลาผสมกับแป้งมัน จากนั้นนำไปต้ม นึ่ง หรือทอด แล้วราดน้ำซอสหรือรับประทานกับบะหมี่ เชอลอร์ เป็นบะหมี่เส้นใหญ่ราดน้ำกะทิ โรยกุ้งแห้ง ไข่ต้ม และน้ำพริกที่มีส่วนผสมของทุเรียนดอง เรียกว่า  ซัมบัล เทมโปยัก ขณะที่ชวาตะวันออกและชวากลาง นิยมรับประทานอาหารทะเลทั้งสดและแห้ง เมนูยอดนิยม คือ ลอนต๊อน คูปัง เป็นซุปหอยทะเลตัวเล็ก ราดบนข้าวห่อใบตองต้ม เป็นต้น

สำหรับอาหารขึ้นชื่อของอินโดนีเซีย คือ กาโด กาโด หรือ โลเต็ก  เป็นเมนูลักษณะคล้ายสลัด ส้มตำ และยำของไทย วัตถุดิบประกอบไปด้วยผักและธัญพืชนานาชนิด ทั้งสด ลวก และต้ม ไม่ว่าจะเป็น แครอท กะหล่ำปลี ถั่วงอก ถั่วฝักยาว ขนุนอ่อน ผักกาดหอม มะเขือเทศ มันฝรั่ง ถั่วเขียว นิยมรับประทานเป็นมื้อเที่ยง คู่กับข้าวหุงในใบตองที่เรียกว่า ลอนตอง นอกจากนี้ อาหารยอดนิยมของอินโดนีเซียยังมี เคอตูบัต หรือ ข้าวต้มอินโดนีเซีย, บัคมี โกเร็ง หรือ บะหมี่ผัด, และ ข้าวเกรียบ หรือ กรุปุกอีกด้วย

Singapore

วัฒนธรรมอาหารของสิงคโปร์ถือเป็นศาสตร์และศิลป์ที่น่าสนใจ เนื่องจากอาหารเหล่านี้ที่ดูจะพบได้ง่ายในชีวิตประจำวันของชาวสิงคโปร์ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายการผสมผสานกันระหว่างคนต่างเชื้อชาติ  เช่น  จีน  มลายูและอินเดีย  รวมทั้งประชากรกลุ่มอื่นๆ ที่อพยพโยกย้ายถิ่นฐานจากที่ต่างๆ ทั่วโลกมายังสิงคโปร์  เช่นจากการที่คนอินเดีย  คนมลายู  ที่เข้ามาอยู่ในสิงคโปร์มาหลายชั่วอายุคน นำเครื่องปรุงประเภทเครื่องเทศที่เผ็ดร้อนข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารของชาวสิงคโปร์  ในขณะที่คนจีนหลากหลายกลุ่มได้นำวิธีการปรุงอาหารมาปรับประยุกต์ในการปรุงจนเกิดเป็นอาหารรสเลิศ

โดยหากเทียบกับชาติพันธุ์อื่นแล้ว อาหารจีนสไตล์จีนทรงอิทธิพลมากที่สุดในเกาะสิงคโปร์  เนื่องมาจากจำนวนประชากรชาวจีนในสิงคโปร์ที่มากที่สุด  ไม่ว่าจะเป็นชาวฮกเกี้ยน  แต้จิ๋ว  กวางตุ้ง  จีนแคะหรือไหหลำ  ยกตัวอย่างอาหารสไตล์ฮกเกี้ยน  เช่น  หมี่ฮกเกี้ยน  อาหารแต้จิ๋ว  เช่น ปูผัด  ปลานึ่ง  อาหารกวางตุ้ง  เช่น  ติ่มซำ  โจ๊ก  อาหารจีนแคะ  เช่น  ย้งโต่วฝู  อาหารไหหลำ  เช่น  ข้าวมันไก่ ที่กลายเป็นเมนูเลื่องชื่อของสิงโปร์ ชนิดที่หากใครเยือนสิงคโปร์แล้วไม่ได้ลองชิมถือว่ามาไม่ถึง  ส่วนบะกุดเต๋นั้นก็มีหลายแบบทั้งแบบแต้จิ๋ว  กวางตุ้ง  และแบบฮกเกี้ยน  ซึ่งเมนูแบบฉบับแต้จิ๋วเห็นจะเป็นที่นิยมมากที่สุดในสิงคโปร์  คือเป็นแบบน้ำใส  เผ็ดร้อนด้วยพริกไทยและกระเทียม

นอกจากนี้ ในฐานะบ้านใกล้เรือนเคียง อาหารสิงคโปร์ยังได้รับอิทธิพลของอาหารอินเดียและมลายูมาอย่างเต็มเปี่ยม อย่างที่จะเห็นได้จากความแพร่หลายของเมนูแกงต่างๆ โรตีมะตะบะ  อาจาด  ทันดูรี  โอตัก  โอตัก  สะเต๊ะ  นาซิโกเร็ง  นาซิเลอมัก  ซึ่งเป็นอาหารที่ใส่เครื่องเทศ  ผงกะหรี่  และขมิ้น หรือแม้แต่อาหารจานหลักยอดนิยมในบรรดาชาวสิงคโปร์พื้นถิ่น อย่าง “ลักซา เลอมัก” (Laksa lemak) อาหารจานเส้น คล้ายก๋วยเตี๋ยวแกงที่มีการใส่กะทิลงในน้ำซุปที่เคี่ยวจากกุ้ง  และเพิ่มโภชนาการและความอร่อยชนิดรุ้งออกปากด้วยกุ้ง หมึก ลูกชิ้นปลา ฮื่อก๊วย เต้าหู้ทอด ไข่ต้ม ไก่ และผักต่างๆ เช่น  แตงกวาซอย  ถั่วงอก  ต้นหอม  ซึ่งเส้นของหลักซา เลอมัก จะเป็นเส้นที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าคล้ายเส้นขนมจีนไหหลำ หรือบางเจ้าอาจนำเส้นบะหมี่ฮกเกี้ยนหรือวุ้นเส้นมาเสิร์ฟแทน

โดยที่หลาย ๆ คนอาจยังไม่ทราบ ว่าครั้งหนึ่งสิงโปร์เคยเป็นเมืองแห่งอาหารสตรีทฟู้ด ทั้งรถเข็น  หาบเร่  และแผงลอย ตามริมถนนและในสถานที่สาธารณะ  กระทั่งเมื่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ขยายตัวมากขึ้น จึงทำให้ทางภาครัฐจัดสรรพื้นที่ให้จำหน่ายตามอาคารอย่างเป็นสัดส่วนแทนเพื่อเป็นการจัดระเบียบผังเมือง สิ่งเหล่านี้จึงพลอยหายไปด้วยเช่นกัน

Vietnam

อาหารเวียดนามได้รับอิทธิพลจากจีนและฝรั่งเศสอย่างเต็มเปี่ยม เนื่องจากเคยอยู่ภายใต้การปกครองของทั้สองชาตินี้มาอย่างยาวนานตลอดช่วงประวัติศาสตร์ โดยอิทธิพลที่ได้รับจากจีนเต็ม ๆ คืออาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว หรือ “เฝอ” และสำหรับที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ เฝอบ่อ หรือก๋วยเตี๋ยวเนื้อ นอกจากนี้ยังมี บะหมี่ ข้าวผัด เกี๊ยว โจ๊ก ซาลาเปา หมูหัน หมูแดง เป็ดย่าง ขนมเปี๊ยะ บ๊ะจ่าง ขนมไหว้พระจันทร์  รวมไปถึงมีการใช้เครื่องปรุงเครื่องเทศอย่างจีนในการปรุ่งในมืออาหารทั่วไป เช่น ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว ซอสฮอยซิน เต้าหู้ยี้ อบเชย โป๊ยกั๊ก ผงพะโล้ เครื่องตุ๋นยาจีน ส่วนอิทธิพลด้านอาหารที่ได้รับมาจากฝรั่งเศสคือ บาแกตต์ หรือขนมปังฝรั่งเศส นิยมรับประทานกับตับบด สเต็กและสตูว์ตามสไตล์ฝรั่งเศส แต่อาจมีการปรับรสชาติอยู่บ้างให้เข้ากับลิ้นของชาวเอเชียแบบเรา ๆ

ซึ่งแม้ว่าอาหารหลักของชาวเวียดนามจะเป็นข้าวเจ้าและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว แต่ทุกมื้ออาหารก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีผักสดยังคงเป็นเครื่องเคียงหลัก ทำให้นอกจากจะอร่อยแล้ว อาหารสไตล์เวียดนามยังดีอย่างยิ่งยวดต่อคนรักสุขภาพและสายลดน้ำหนัก ซึ่งปัจจุบัน อาหารเวียดนามมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทย จากการเผยแพร่ผ่านชาวเวียดนามบางส่วน ที่อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาพำนักยังประเทศไทยในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมนูยอดนิยมที่คนไทยรู้จักและยกให้ขึ้นแท่นเมนูโปรดมานักต่อนัก คือแหนมเนือง หรือที่ออกเสียงตามแบบเวียดนามว่าแนมเหนือง รวมไปถึงเฝอ ที่เรียกกันติดปากว่าเป็นกวยจั๊บญวนไปแล้วเรียบร้อย

สำหรับเมนูอาหารยอดนิยมของชาวเวียดนาม ที่ชาวเวียดนามเองนิยมรับประทานกันทั่วไปมีอยู่หลากชนิด ทั้งเฝอ บุ๋นเซียว แบ๋ญก๋วน บุ๋นจ๋า บุ๋นจ่าห่าโหน่ย จ่าก๋า บุ๋นบ่อเว้ แบ๋ญแส่ว กาวเหลิ่ว ก่อยหงอแซน แกญจัวก๋าล้อก บ่อลุกลัก จ่าส่อ แหนมเนือง และขนมเบื้อง นอกจากนี้ยังมี “จ่า ก๋า หลา หว่อง” อาหารจานหลักที่ทำจากปลา ทานคู่ผักสดนานาชนิด จนกลายเป็นทางเลือกของอาหารเพื่อสุขภาพที่รสชาติไม่จัดจ้าน วิธีการปรุงไม่ซับซ้อน ด้วยวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในพื้นที่ประเทศเวียดนาม จะกินเป็นอาหารหลักหรือของว่างก็ตามสะดวก ฉะนั้นแล้ว หากใครไปเยี่ยมเยือนถึงถิ่นแล้ว อย่าลืมไปชิมอาหารเวียดนามต้นตำรับกันสักครั้งให้ได้นะ

Cambodia

จุดเด่นของอาหารกัมพูชา คือได้รับอิทธิพลจากประเทศแวดข้างมาอย่างมากมายทั้งจีน อินเดียและฝรั่งเศส รวมไปถึงหลายจุดที่เกี่ยวพันกับอาหารสไตล์ไทย โดยเป็นประเทศรับประทานข้าวเป็นหลัก และมีการใช้กะทิเป็นองค์ประกอบอย่างหลากหลาย และมีการนำเครื่องเทศมาใช้ประกอบอาหารอยู่หลากหลายชนิดอีกด้วย

อาหารตามแบบฉบับกัมพูชา มักมีปลาเป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยเฉพาะปลาน้ำจืด เช่น ปลาดุก ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาสังกะวาด ปลาเนื้ออ่อน ปลาสร้อย ปลาหมู ปลาเบี้ยว ปลาม้า ปลากด นอกจากนี้ ด้วยรูปแบบอาหารที่ใกล้เคียงอาหารไทยบางชนิด ด้วยรสชาติที่อ่อนกว่า เช่น กุยเตียว หรือก๋วยเตี๋ยวในน้ำซุป ที่ถึงแม้จะได้รับอิทธิพลมาจากจีน แต่หน้าตาของเจ้ากุยเตียวก็ไม่ได้ต่างไปจากก๋วยเตี๋ยวน้ำเส้นเล็กของชาวไทยนัก ทำให้การมองหาอาหารการกินในประเทศเพื่อนบ้านของเราแห่งนี้อาจกลายเป็นเรื่องชิว ๆ ไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก

ยกตัวอย่างที่เป็นที่นิยมของชาวกัมพูชา ได้แก่ อาม๊อก หรือ ห่อหมกสไตล์เขมร เป็นเมนูที่มีวัตถุดิบหลักเป็นเนื้อปลา นำมาคลุกเคล้ากับเครื่องเทศ กะทิ ผักสด พริกแกง จากนั้นนำไปนึ่งในกระทงใบตอง หรือจะเป็นของหวานอย่างบ็องแอมเซียม หรือขนมหวานที่นำเม็ดขนุน สังขยา ทองหยิบ ทองหยอด วุ้น และข้าวเหนียวตัด มารับประทานคู่กับน้ำแข็งใสใส่น้ำกะทิ และปราฮ็อก กะติ หรือน้ำพริกปลาร้ากะทิของชาวกัมพูชา มีส่วนประกอบหลักคือปลาร้า กะทิ และเครื่องแกงเหลือง อันมีส่วนผสมของ หอมแดง กระเทียม ตะใคร้ ข่า ขมิ้น และผิวมะกรูด โขลกรวมกันอย่างละเอียด นำมาผัดในกระรวมกับเนื้อหมูและเนื้อปลาร้าสับ นิยมรับประทานกับข้าวสวยและผักสด ที่ดูแล้วแทบไม่ต่างอะไรกับหลนปลาร้า อาหารสุดโปรดของชาวไทยที่เห็นได้ตามร้านอาหารพื้นบ้านไทยหลาย ๆ ร้านเลย

และจากคัมภีร์อาหาร 5 สัญชาติที่เราตั้งใจรวบรวมข้อมูลมาให้ หวังว่าสิ่งนี้จะสามารถเป็นตัวช่วยให้การท่องเที่ยวของทุกคนง่ายดายขึ้นมาได้บ้างนะ

และจะง่ายดายยิ่งกว่า หากก่อนเดินทางจะเลือกบริการซิมการ์ดและ eSIM อินเทอร์เน็ตใช้งานต่างประเทศจาก Samurai Sim ให้ออกเดินทางไปด้วยกัน ด้วยบริการครอบคลุม สัญญาณคมชัด และสะดวกสบายสุด ไม่จำเป็นต้องเตรียมใจไปติดต่อซื้อซิมการ์ดที่ประเทศปลายทางทั้งที่ไม่รู้ภาษา ด้วยเจ้าหน้าที่ชาวไทยที่พร้อมให้บริการ และคอยมอบคำแนะนำเพื่อการเลือกแพ็กเกจที่เหมาะสมกับตัวคุณที่สุด พิเศษ แพ็กเกจให้บริการ 5 ประเทศอาเซียน เริ่มต้น 280 บาทต่อวัน หากสนใจติดต่อเรา Samurai ได้ทุกช่องทางติดต่อเลย

 

 

ติดต่อเรา:

โพสล่าสุด:

เมื่อพาสปอร์ตหายระหว่างท่องเที่ยว: คู่มือฉุกเฉินสำหรับนักเดินทาง

ของหายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากประสบพบเจออย่างแน่นอน แต่เรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ถ้าเกิดหายขึ้นมาจริงๆ ก็จะต้องรับมือให้รวดเร็ว และถูกต้อง

แนะนำ 5 โลเคชั่น ดูฟูจิซัง

ใจหาย! ข่าวร้ายสำหรับนักท่องเที่ยวสายโซเชียล เพราะแลนด์มาร์คสุดฮอตทั้งในหมู่ชาวไทย และชาวต่างชาติ อย่าง